หน้าหลัก > บทความ > บทความ "ถ้อยคำผู้ต้องหารับฟังไม่ได้"
บทความ "ถ้อยคำผู้ต้องหารับฟังไม่ได้"
บทความ "ถ้อยคำผู้ต้องหารับฟังไม่ได้"
12 Oct, 2022 / By Puditlaw
Images/Blog/NsinPV66-8C9B84FD-0073-4373-91BF-C851C88AB03E.png

ช่วงเย็นเสร็จจากงานเปิดอ่านข่าว สะดุดประโยคหนึ่งในคดีดัง ที่ว่า "ถ้อยคำรับผู้ต้องหารับฟังไม่ได้" เลยขอนำมาขยายความเชิงวิชาการในทางปฏิบัติให้เข้าใจง่ายอีกที

"รับคำ" หมายถึงคำให้การรับสารภาพซึ่งเป็นโทษกับจำเลย หลักให้รับฟังได้โดยใช้ความระมัดระวัง ซึ่งถ้าหากพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือไม่เป็นพิรุธแล้ว ศาลจะฟังคำรับของจำเลยประกอบโดยระมัดระวัง ก็สามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์หนักแน่น

"ถ้อยคำอื่น" ตรงนี้สำหรับนักศึกษาที่อ่านเฉพาะฎีกาและตัวบท อาจเห็นภาพยากสักนิด ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆเช่น ในคดีหนึ่งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวน แต่ถ้าหากพนักงานสอบสวนที่มีศิลปะในการสอบสวน ก็จะทำการสอบถามถ้อยคำอื่นเพิ่มไปในคำให้การผู้ต้องหาเช่น พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาต่อไปว่า วันเกิดเหตุผู้ต้องหาอยู่ที่ไหน , ผู้ต้องหารู้จักกับบุคคลอื่นที่ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ , ผู้ต้องหาใช้โทรศัพท์หมายเลขใด , ผู้ต้องหามีบัญชีเงินฝากธนาคารใดหมายเลขใด , วันเกิดเหตุผู้ต้องหาสวมใส่เสื้อผ้าสีใดชนิดใด , วันเกิดเหตุผู้ต้องหาขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ยี่ห้อใดรุ่นใดทะเบียนหมายเลขอะไร , วันเกิดเหตุผู้ต้องหาได้ไปพบใครมาบ้าง , พบที่ไหน , ฯลฯ อันนี้เป็นส่วนเล็กน้อยที่นำมาเป็นตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า ไม่มีถ้อยคำที่เป็นการรับสารภาพหรือปฏิเศษของผู้ต้องหาในคดีเลย เป็นเพียงถ้อยคำเหตุการณ์ทั่วไป แต่เชื่อไหมครับจะเป็นสาระสำคัญสอดคล้องกับพยานหลักฐานของโจทก์ในคดี เช่น ชี้ให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุผู้ต้องหาได้โทรหามือปืนที่ยิงผู้ตาย , ก่อนเกิดเหตุผู้ต้องหาได้ไปพบกับมือปืนหรือผู้ร่วมกระทำความผิด , ก่อนเกิดเหตุผู้ต้องหาได้ใช้รถหรือยานพาหนะที่พบในที่เกิดเหตุ , ผู้ต้องหาสวมใส่เสื้อผ้าและแต่งกายเหมือนกับที่ประจักษ์พยานเห็นในที่เกิดเหตุ , หรือผู้ต้องหาได้ให้การในส่วนของรายละเอียดที่สอดคล้องกับพยานอื่นในที่เกิดเหตุ หรือประจักษ์พยาน ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าถ้อยคำอื่น

ซึ่งถ้อยคำอื่นนั้นหากประกอบกับพยานหลักฐานของโจทก์ในสำนวนแล้ว อาจทำให้ลดน้ำหนักความน่าเชื่อถือของคำให้การปฏิเสธของจำเลยในชั้นศาลไปได้ เพราะหากจำเลยให้การปฏิเสธการกระทำความผิด แต่การปฏิเสธนั้นดันไปขัดกับถ้อยคำอื่นที่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนแล้ว ก็จะทำให้คำให้การของจำเลยไม่มีน้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือได้

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนประกอบและในการสอบสวนนั้นพนักงานสอบสวนจะมีเทคนิคในการสอบสวนเสมอ ถึงแม้ผู้ต้องหาจะให้การปฏิเสธพนักงานสอบสวนก็จะสอบถามถ้อยคำอื่นติดไปในสำนวนด้วยเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับพยานของพนักงานสอบสวนปากอื่นที่สอบไว้ หรือแม้กระทั่งให้ขัดกลับคำให้การปฏิเสธของผู้ต้องหาเอง และทำให้คำให้การผู้ต้องหาขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งเป็นคำให้การที่เสริมน้ำหนักและเจือสมกับพยานหลักฐานโจทก์คือพนักงานอัยการได้ !!

ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานการทำงานของพนักงานสอบสวน ท่านผู้นำอย่าได้หลงลืมจุดนี้เลยนะครับ

ภูดิท โทณผลิน

2/3/2561

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.