หน้าหลัก > บทความ > บทความ องค์ประกอบความผิดกรณีกรรโชก ประมวลกฎหมายอาญา
บทความ องค์ประกอบความผิดกรณีกรรโชก ประมวลกฎหมายอาญา
บทความ องค์ประกอบความผิดกรณีกรรโชก ประมวลกฎหมายอาญา
19 Oct, 2022 / By Puditlaw
Images/Blog/6LlbWXmt-F9CCDD5F-B5CD-406B-B809-7F5298CFE53B.png

19 พฤษภาคม 2018  · 

กรณีนี้น่าศึกษา การที่วินจักรยานยนต์ ข่มขู่ และมีปากเสียงกับผู้โดยสารและผู้ขี่แกร็บไบค์ หากมองด้วยทฤษฎีทางกฎหมายอาจดูเหมืิอนยังไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่ในทางปฏิบัตินั้นดูข้อเท็จจริงเป็นรายเคสไป หากมีการข่มขู่ว่าจะให้กำลัง ประทุษร้ายเพื่อให้ได้ซึ่งค่าโดยสาร ความผิดฐานกรรโชกเป็นความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ โดยผู้กระทำต้องข่มขืนใจผู้อื่น การข่มขืนใจอาจทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน โดยเจตนาที่จะให้ผู้ถูกข่มขืนใจยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ความผิดฐานกรรโชกนี้แทบจะเหมือนกับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 แต่ความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 บัญญัติไว้กว้างกว่า คือ มาตรา 309 เจตนาที่ผู้กระทำประสงค์คือให้ผู้ถูกข่มขืนใจกระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งใด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ดังนั้น ในความผิดฐานกรรโชกย่อมเป็นความผิดต่อเสรีภาพด้วยเสมอ ผมมีแนวคำพิพากษาฎีกาทั้งที่เป็นกรณีกรรโชก และไม่เป็นกรณีกรรโชกมาให้ได้ศึกษาเทียบเคียงกันครับ

1. กรณีเป็นกรรโชก คำพิพากษาฎีกาที่ 3058/2539

จำเลยเลยขอเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหายทั้งสองคนละ 10 บาท ผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมให้จำเลยพูดขู่ว่าจะชกต่อยผู้เสียหายที่ 1 และนำเอาอาวุธปลายแหลมมาจ่อห่างจากไหล่ผู้เสียหายที่ 2 เพียงเล็กน้อย ผู้เสียหายทั้งสองเกิดความกลัวจึงส่งเงินให้จำเลยคนละ 10 บาท แม้จำเลยจะไม่มีอำนาจเรียกเก็บเงินจากพื้นที่ดั่งกล่าวแต่การข่มขู่นั้นก็มิได้เกิดขึ้นเฉพาะเจาจงแก่ตัวผู้เสียหายทั้งสองคนอย่างเดียวแต่จำเลยเรียกเก็บเงิน 10 บาทจากทุกคนที่เข้ามาจอดคนละ 10 บาท เท่าๆกันหากไม่ให้ก็จะให้นำรถไปจอดที่อื่นหากยังยืนยันจะจอดในที่ดั่งกล่าวก็จะทำร้ายการข่มขู่ดั่งกล่าวจึงเป็นการขู่ที่มีเงื่อนไขผู้เสียหายทั้งสองจึงสามารถตัดสินใจได้อยู่ว่าจะให้หรือไม่ก็ได้ จำเลยจึงไม่ผิดฐานลักทรัพย์ และ ไม่ผิดฐานชิงทรัพย์ เพราะมิได้มีเจตนาจะแย่งการครอบครองเงินของผู้เสียหายทั้งสองโดยตรง แต่การกระทำของจำเลยเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมทำตามจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์สำเร็จตาม ป.อ มาตรา 337

2. กรณีไม่เป็นกรรโชก คำพิพากษาฎีกาที่ 330/2535 พวกจำเลยล้อมรถขายไอศกรีมของผู้เสียหายไว้ จำเลยที่ 3 เข้าต่อรองราคา แม้จะเป็นราคาที่อาจรู้ว่าผู้เสียหายไม่ตกลงด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหาย การล้อมรถ โดยไม่ปรากฏว่ามีทีท่าทางว่าจะเข้ามาทำร้ายผู้เสียหาย เพียงแต่ยืนจับกลุ่มกันอยู่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นการใช้พวกเข้าขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายยอมจะให้ทรัพย์แก่พวกจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์

องค์ประกอบความผิดกรณีกรรโชก ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 337 "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ถ้าความผิดฐานกรรโชกได้กระทำโดย

(1) ขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายให้ผู้ถูกข่มขืนใจ หรือผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือ

(2) มีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ

ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท"

องค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก

1. ผู้ใด

2. ข่มขืนใจ

3. ผู้อื่น

4. โดย

(1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือ

(2) ขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อ ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ของผู้ถูกขูเข็ญหรือของบุคคลที่สาม

5. ให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

6. จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น

7. เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

cr ภาพโดย https://youtu.be/vSDMoHpIeJg

ภูดิท โทณผลิน

19 พฤษภาคม 2561 

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.